Organic Agriculture หรือ เกษตรอินทรีย์ เป็นคำที่อาจมีนิยามแตกต่างกันไปบ้างของแต่ละสำนัก แต่หากกล่าวโดยสรุป เกษตรอินทรีย์หมายถึงระบบการผลิตที่คำนึงถึงสภาพแวดล้อมรักษาสมดุลย์ ธรรมชาติ และความหลากหลายของชีวภาพ โดยมีระบบการจัดการนิเวศวิทยาที่คล้ายคลึงกับธรรมชาติ และหลีกเลี่ยงการใช้สารสังเคราะห์ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและฮอร์โมนต่าง ๆ ตลอดจนไม่ใช้พืชหรือสัตว์ที่เกิดจากการตัดต่อทางพันธุ์กรรม ที่อาจก่อให้เกิดมลพิษในสภาพแวดล้อม เน้นการใช้อินทรีย์วัตถุ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด และปุ๋ยชีวภาพ ในการปรับปรุงบำรุงดินให้มีความสมบูรณ์ เพื่อให้ต้นพืชมีความแข็งแรงสามารถต้านทานโรคและแมลงได้ด้วยตนเอง รวมถึงการนำเอาภูมิปัญญาชาวบ้านมาใช้ประโยชน์ด้วย ผลผลิตที่ได้จะปลอดภัยจากอันตรายของสารพิษตกค้าง ทำให้ปลอดภัยทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และไม่ทำให้สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมลงอีกด้วย
การทำเกษตรอินทรีย์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจึงต้องใส่ใจในทุกขั้นตอน การ ผลิต ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมดิน รักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ไม่ใช้สารเคมีสังเคราะห์ ตลอดจนมีมาตรการป้องกันการปนเปื้อนที่ค่อนข้างเข้มงวด กล่าวคือ
การเตรียมดิน ต้องให้มีการหมุนเวียนธาตุอาหารในดิน ด้วยการใช้ปุ๋ยหมัก ปลูกพืชคลุมดินเพื่อให้เป็นปุ๋ยพืชสด แล้วก็มีการรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน เช่น ไม่เผาฟาง ไม่ปล่อยให้พื้นที่เปิดโล่ง มีการคลุมดินด้วยเศษซากพืชและใบไม้ เพราะนอกจากจะช่วยป้องกันการกัดเซาะและพังทลายของหน้าดินแล้ว อินทรีย์วัตถุเหล่านี้ยังเป็นอาหารของสิ่งมีชีวิตและจุลินทรีย์ที่อยู่ในดิน ทำให้ดินมีชีวิต และเมื่ออินทรีย์วัตถุเหล่านี้ย่อยสลาย ก็จะกลายเป็นฮิวมัส ทำให้ดินร่วนซุย และสามารถเก็บกักน้ำและธาตุอาหารต่างๆ ได้มากขึ้น
มีการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ เนื่องจากสิ่งมีชีวิตต่างๆ มีทั้งที่พึ่งพาอาศัยกัน แข่งขันกัน หรือเป็นอาหารของสิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่ง แต่ต่างดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล ดังนั้นแม้จะมีแมลงหรือศัตรูที่กินพืชที่ปลูกเป็นอาหารบ้าง แต่ก็จะมีสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นที่เป็นศัตรูตามธรรมชาติมาควบคุมประชากรของ ศัตรูพืชให้ลดลงอยู่ในภาวะที่สมดุล แล้วยังช่วยลดความเสี่ยงภัยจากปัญหาโรคและแมลงศัตรูพืชระบาดได้อีกด้วย
ปฏิเสธการใช้สารเคมีสังเคราะห์ เพราะนอกจากพิษตกค้างไป กับ ผลผลิตแล้วจนถึงมือผู้บริโภคแล้ว ยังมีผลกระทบต่อระบบนิเวศ ต่อดิน แม้แต่ปุ๋ยเคมี โดยเฉพาะอย่างยิ่งปุ๋ยยูเรียที่มีธาตุไนโตรเจน ซึ่งก็จัดเป็นสารก่อมะเร็งชนิดหนึ่งด้วย แถมเมื่อเกิดการชะล้างลงแหล่งน้ำ ก็ทำให้น้ำเน่าเสีย หากชะล้างลงแหล่งน้ำใต้ดิน ก็ทำให้เกิดการปนเปื้อน
ไม่เพียงแค่นั้น การทำเกษตรอินทรีย์ยังต้องมีมาตรการป้องกันการปนเปื้อนจากภายนอกฟาร์มด้วย ทั้งจากดิน น้ำ และอากาศ โดยจัดสร้างแนวกันชนด้วยการขุดคูหรือปลูกพืชยืนต้นเป็นแนวกำบังโดยรอบ
ในส่วนของการทำปศุสัตว์อินทรีย์ ก็ต้องคำนึงถึงการจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม โดยจำนวนปศุสัตว์ต้องสมดุลกับพื้นที่ และไม่ใช้ฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโตของสัตว์
นอกจากนี้ การทำเกษตรอินทรีย์ยังมีแนวทางที่มุ่งให้เกษตรกรพยายามผลิตปัจจัยการผลิตต่างๆ ด้วยตนเองให้ได้มากที่สุด เช่น ปุ๋ยอินทรีย์ สารชีวภาพบำรุงดิน เมล็ดพันธุ์ เป็นต้น เพราะนอกจากจะเป็นการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว การพึ่งพาตนเองในด้านปัจจัยการผลิตยังมีนัยทางเศรษฐกิจและสังคมที่สำคัญ เนื่องจากประสบการณ์การพัฒนาระบบเกษตรที่พึ่งพิงสารเคมีที่ผ่านมา เกษตรกรได้สูญเสียการเข้าถึงและการควบคุมปัจจัยการผลิตและกระบวนการผลิตใน เกือบทุกขั้นตอน จำเป็นต้องพึ่งพาบริษัทค้าสารเคมีและเทคโนโลยีทางการเกษตร จนเกษตรกรเองแทบไม่ต่างไปจากแรงงานรับจ้างในที่ดินทำกินของตนเอง การส่งเสริมหลักพึ่งพาตนเองในระบบเกษตรอินทรีย์จึงไม่เพียงแค่ช่วยให้ เกษตรกรเป็นไทในการผลิต แต่เท่ากับสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการเกษตรของประเทศในอีกทางหนึ่งด้วย