ศัพท์สิ่งแวดล้อม : อังกฤษ

Peak Oil

จุดที่การผลิตน้ำมันถึงจุดสูงสุด (Peak Oil) หรือ “จุดสูงสุดของฮับเบิร์ต” (Hubbert’s Peak) เรียกตามชื่อของ ดร. เอ็ม คิง ฮับเบิร์ต (Dr. M. King Hubbert) นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมน้ำมัน โดยในปี 1956 ดร.ฮับเบิร์ตคิดค้นแบบจำลองรูประฆังคว่ำ (bell curve) พยากรณ์จุดที่การผลิตน้ำมันในสหรัฐอเมริกาจะถึงจุดสูงสุดในช่วงต้น ทศวรรษ1970 เลยจากจุดนั้นปริมาณน้ำมันที่ผลิตได้จะลดลงเรื่อยๆ

นักวิเคราะห์หลายคนต่างออกมาเตือนว่าปัจจุบันการผลิตน้ำมันโลกได้เลยจุดสูง สุดไปแล้ว บางส่วนมองว่ายังไม่ถึง แต่ก็จะถึงจุดนั้นอย่างแน่นอนภายในปี 2020 เนื่องจากสัญญาณที่บ่งชี้คือ ตัวเลขการผลิตน้ำมันทั่วโลกไม่เพิ่มขึ้นอีกเลยนับตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมา และการค้นพบแหล่งน้ำมันใหม่ๆ ในรอบสิบปีที่ผ่านมามีแต่ที่ยากๆ ที่ไม่เคยขุดเจาะมาก่อน เช่น หินน้ำมัน (oil shale) และทรายน้ำมัน (tar sand)

อย่างไรก็ตาม จุด Peak Oil อาจเกิดขึ้นเร็วกว่านั้น ถ้าหากปริมาณการใช้น้ำมันของประชากรโลกเพิ่มขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะจากประเทศโตเร็วที่มีขนาดใหญ่ เช่น จีน อินเดีย นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญหลายคนสงสัยว่ากลุ่มโอเปค (กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน 13 ประเทศ) มีการแจ้งตัวเลขปริมาณน้ำมันสำรองสูงเกินกว่าที่มีอยู่จริง และไม่ยอมให้ใครตรวจสอบ เนื่องจากผูกโควตาการผลิตน้ำมันส่วนหนึ่งเข้ากับปริมาณน้ำมันสำรองที่มี ดังนั้นยิ่งแจ้งตัวเลขได้สูงก็จะยิ่งผลิตน้ำมันได้มาก ทำกำไรมหาศาลได้มากขึ้น

ในปี 2006 วารสาร Petroleum Intelligence Weekly ได้เอกสารลับของทางการคูเวตซึ่งระบุว่า ปริมาณน้ำมันสำรองที่แท้จริงของคูเวตนั้นมีเพียง 48,000 ล้านบาร์เรล ต่ำกว่าตัวเลขที่ประกาศต่อสาธารณะกว่าครึ่งหนึ่ง และตัวเลขที่แท้จริงนี้ก็รวมทั้งปริมาณ “น้ำมันสำรองที่ยืนยันแล้ว” (proven reserves) และ “น้ำมันสำรองที่ยังไม่ยืนยัน” (unproven reserves) คือยังไม่ผ่านการพิสูจน์จากบุคคลที่สามว่ามีแน่นอนและขุดขึ้นมาใช้ได้จริง

Permaculture

เพอร์มาคัลเจอร์ มีที่มาจากการผสมคำว่า Permanent ที่แปลว่า ‘ถาวร’ กับคำว่า Agriculture ที่แปลว่า ‘เกษตรกรรม’ ซึ่งหมายถึงแนวคิดทางเกษตรกรรมที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของสิ่งมีชีวิต และสิ่งแวดล้อม โดยมีวิถีปฏิบัติที่สอดคล้องกับธรรมชาติและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แนวคิดดังกล่าวคิดขึ้นโดยบิลล์ บอร์ริสัน (Bill Morrison) นักนิเวศวิทยา และเดวิด โฮล์ม เกรน (David Holmgren) ลูกศิษย์ชาวออสเตรเลีย ซึ่งทั้งสองที่มีความสนใจร่วมในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับระบบ นิเวศทางธรรมชาติ

จากการที่วิถีการเกษตรส่วนใหญ่ในปัจจุบันพยายามที่ จะเอาชนะธรรมชาติผ่านการควบคุมปัจจัยต่างๆ ให้เป็นไปตามใจนึก โดยเชื่อว่าเป็นวิธีการที่จะได้รับผลผลิตที่สูงขึ้น แต่แนวคิดเพอร์มาคัลเจอร์กลับบอกว่า ถ้ามนุษย์สามารถออกแบบระบบการเกษตรให้เป็นไปอย่างที่ธรรมชาติเป็น ระบบที่สอดคล้องกับธรรมชาติจะนำมาซึ่งผลผลิตที่สูงขึ้น และยังเป็นวิถีปฏิบัติที่ยั่งยืนกว่าวิถีที่พยายามจะควบคุมธรรมชาติอีกด้วย

วิถีเกษตรกรรมแบบ ‘เพอร์มาคัลเจอร์’ จะให้ความสำคัญกับการออกแบบจัดวางพื้นที่เพาะปลูก พื้นที่เลี้ยงสัตว์ รวมทั้งการออกแบบอาคารบ้านเรือนและโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ให้สัมพันธ์และสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ แต่ยังมีความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ ภายใต้วิถีที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ก่อมลพิษ เน้นการพึ่งพาธรรมชาติและพึ่งพาแหล่งพลังงานภายในชุมชน

PES

PES หรือ การจ่ายค่าตอบแทนคุณค่าระบบนิเวศอย่างเป็นรูปธรรม หรือ (Payment for Ecosystem Services) ถูกทดสอบและพัฒนาจากประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศแถบละตินอเมริกา โดยภูมิภาคเอเชียเพิ่งมีการนำมาต่อยอดพัฒนาในประเทศเวียดนามให้เป็นประเทศนำ ร่องในการจัดทำนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้

PES เป็นกลไกสำหรับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ด้วยการสร้างแรงจูงใจทางเศรษฐกิจให้กับ
1. ผู้ที่มีบทบาทในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ
2. ผู้ที่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ
3. ผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศและคุณภาพสิ่งแวดล้อม
โดยมีความเชื่อว่าระบบนิเวศที่เสื่อมลง จะทำให้มนุษย์ได้รับประโยชน์น้อยลงและย่อมส่งผลให้ต้นทุนทางสังคมเพิ่มสูงขึ้น

หลักการของ PES คือ บุคคลหรือกลุ่มคนที่ดูแลรักษาระบบนิเวศและธรรมชาติควรจะได้รับค่าชดเชย (compensation) หรือผลตอบแทน (reward) และบุคคลหรือกลุ่มคนที่ได้รับประโยชน์จากระบบนิเวศควรจะต้องจ่ายเพื่อแลก เปลี่ยนกับประโยชน์ที่ได้รับ โดยรูปแบบของการชดเชยหรือการให้ผลตอบแทนอาจจะอยู่ในรูปของตัวเงิน การลดหย่อนภาษีหรือค่าธรรมเนียม ความมั่นคงในการถือครองที่ดิน หรือการถ่ายทอดเทคโนโลยี

Pollution Control Zone

Pollution Control Zone หรือ การประกาศเขตควบคุมมลพิษ  เป็นไปตามบทบัญญัติภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม แห่งชาติ พ.ศ. 2535 โดยการจะประกาศให้พื้นที่ใดเป็นเขตควบคุมมลพิษนั้น พิจารณาจากว่าพื้นที่นั้นๆ มีปัญหามลพิษและมีแนวโน้มที่จะร้ายแรงถึงขนาดเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของ ประชาชนหรืออาจจะเกิดผลกระทบเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ซึ่งถ้าหากพื้นที่ใดถูกประกาศให้เป็นเขตควบคุมมลพิษ ก็จะต้องปฏิบัติตามแผนเพื่อควบคุม ลด และขจัดมลพิษอย่างต่อเนื่อง โดยมีกรมควบคุมมลพิษคอยทำหน้าที่ดูแลและให้คำแนะนำ

อนึ่ง ไม่เพียงแต่พื้นที่อุตสาหกรรมเท่านั้นที่อาจถูกประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ ย่านที่พักอาศัย ศูนย์กลางของการพาณิชยกรรม ก็อาจเข้าข่ายได้ หากพบว่าพื้นที่ดังกล่าวปล่อยมลพิษตามเงื่อนไขข้างต้น

POPs

POPs หรือ สารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน  สารกลุ่มนี้เป็นสารที่มีความเป็นพิษสูง มีอยู่ 12 ชนิด คือ ดีดีที คลอเดน อัลดริน เดลดริน เอ็ดดริน มิเร็กซ์ ท็อกฟิน เฮปตาคลอร์ เฮกซาคลอโรเบนซีน พีซีบี ไดออกสิน ฟิวราน ส่วนใหญ่เป็นผลผลิตจากยุครุ่งเรืองของอุตสาหกรรมเคมีและเกษตรเคม

สารเคมีเหล่านี้เข้าสู่สิ่งแวดล้อมได้หลายทาง ทั้งจากโรงงาน ท่อน้ำทิ้ง พื้นที่เกษตรกรรม รวมถึงเป้นส่วนผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ต่างๆ ซึ่งจะถูกปล่อยผ่านระบบการกำจัดกาก หลุมฝังกลบ หรือเตาเผาขยะ หลังหมดอายุการใช้งาน

อันตรายของ POPs คือสามารถคงความเป็นพิษสูง แม้จะมีระดับความเข้มของพิษต่ำ แต่สะสมตัวในสิ่งแวดล้อมได้นานนับทศวรรษ และบางชนิดใช้เวลานับศตวรรษกว่าที่จะสลายตัว ไม่ละลายในน้ำแต่ละลายได้ดีในไขมัน จึงทำให้ง่ายต่อการเข้าไปสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อไขมันของมนุษย์และสิ่งมีชีวิต อื่นๆ โดยเฉพาะสัตว์ที่มีร่างกายประกอบขึ้นด้วยไขมันปริมาณมากๆ อย่างมนุษย์ ปลาวาฬ หมีโพลา หรือปลาโลมา การสะสมก็จะยิ่งมีมากขึ้น

นอกจากนี้ ความน่ากลัวยังอยู่ที่ว่า แม้สารเคมีเหล่านี้จะเกิดขึ้นในภาคอุตสาหกรรม แต่ชุมชนที่อยู่ห่างจากแหล่งอุตสาหกรรมหรือประเทศที่ไม่มีอุตสาหกรรมก็มี โอกาสที่จะได้รับอันตรายจากสารเคมีพวกนี้ได้อย่างทั่วถึงกัน เนื่องจากสารเคมีในกลุ่มนี้มีความสามารถพิเศษในการเดินทางไกลจากทวีปหนึ่งไป ยังอีกทวีปหนึ่ง โดยใช้เวลาเพียงเล็กน้อยด้วยการเดินทางไปพร้อมกับสายลม และจะตกลงสู่พื้นดินเมื่อลมอ่อนแรง หรือระเหยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ลอยไปตามกลุ่มเมฆ และกลายเป็นตกลงมา

สำหรับผลกระทบต่อสุขภาพของ POPs เป็นไปได้มากมาย อาทิ เพิ่มอัตราการเป็นมะเร็ง ทำให้ระบบการเรียนรู้ผิดปกติ มีผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์และฮอร์โมน ฯลฯ

PRTR

PRTR ย่อมาจาก Pollutant Release and Transfer Registers หรือ ทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ ซึ่งเป็นการจัดทำระบบฐานข้อมูลที่แสดงถึงชนิดและปริมาณสารเคมีหรือมลพิษที่ ปลดปล่อยจากแหล่งกำเนิด เช่นโรงงานอุตสาหกรรมสู่สิ่งแวดล้อม ทั้งอากาศ ดิน และน้ำ รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับการขนย้ายน้ำเสียและของเสียออกนอกสถานประกอบการเพื่อ บำบัดหรือกำจัด โดยทำเป็นฐานข้อมูลเผยแพร่ทางอินเทอร์เนตให้สาธารณะเข้าถึงได้

ประโยชน์ของการจัดทำทำเนียบดังกล่าวคือ ช่วยให้เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถติดตามตรวจสอบการปล่อยมลพิษของผู้ประกอบการ ได้ดียิ่งขึ้น แถมยังช่วยในการวางนโยบายและดำเนินการโครงการสิ่งแวดล้อมต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะรู้ว่าจะต้องปรับปรุงนโยบายตรงจุดใด จะต้องเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอะไรบ้างที่เกี่ยวกับการป้องกันมลพิษ หรือแม้กระทั่งเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน เช่นการจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้สถานประกอบการที่อาจเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ ดำเนินการในบางพื้นที่ เป็นต้น ในขณะเดียวกันก็ช่วยกระตุ้นให้ภาคอุตสาหกรรมเกิดความตื่นตัวที่จะลดการปล่อย มลพิษ รวมทั้งขนย้ายสารอันตรายอย่างระแวดระวังมากขึ้น

ที่สำคัญการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะ ช่วยให้เกิดการตรวจสอบจากภาคประชาชนได้ง่าย ซึ่งในแง่หนึ่งจะช่วยสร้างแรงกดดันทางการตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับองค์กรที่ต้องการรักษาภาพลักษณ์

สำหรับประเทศไทย กรมควบคุมมลพิษได้เคยริเริ่มวางแผนงาน 5 ปี (ระหว่างปี 2543 – 2547) เพื่อพัฒนาระบบการจัดทำทำเนียบให้เป็นรูปธรรมและครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ แต่แผนงานดังกล่าวก็ต้องล้มพับไปเสียก่อน เนื่องจากความไม่พร้อมในด้านความรู้และทรัพยากรบุคคลภายในกรมเอง รวมถึงไม่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานของรัฐด้วยกัน และจากภาคเอกชนที่ไม่ยอมให้ข้อมูล ด้วยการอ้างเหตุผลว่าเป็นความลับทางธุรกิจ

ในปี 2553 (หรืออีกประมาณ 10 ปีต่อมา) กรมควบคุมมลพิษร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมรื้อการพัฒนาระบบ PRTR กลับมาใหม่อีกครั้ง โดยกำหนดให้จังหวัดระยองเป็นพื้นที่นำร่องในการศึกษา เนื่องจากปัจจุบันพื้นที่ ต. มาบตาพุด และบริเวณใกล้เคียงได้รับการประกาศให้เป็นเขตควบคุมมลพิษ และประสบปัญหามลพิษทางด้านอุตสาหกรรมอย่างรุนแรง คาดว่าโครงการนำร่องจะสามารถดำเนินการได้ภายในปี 2556 – 2557

Ramsar Site

แรมซาร์ไซต์ หมายถึง พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ  ซึ่งได้รับการแต่งตั้งอนุสัญญาแรมซาร์ พื้นที่ชุ่มน้ำหมายถึง พื้นที่ลุ่มชื้นแฉะพื้นที่ฉ่ำน้ำ มีน้ำท่วมขัง พื้นที่พรุ ทั้งที่เป็นแหล่งน้ำนิ่งและน้ำไหล ทั้งที่เป็นน้ำจืดและน้ำเค็ม รวมไปถึงพื้นที่ชายฝั่งทะเล มีความสำคัญต่อระบบนิเวศเพราะแหล่งเก็บกักน้ำ ป้องกันน้ำเค็มมิให้รุกเข้ามาในแผ่นดิน ป้องกันชายฝั่งพังทลาย ดักจับตะกอนและแร่ธาตุ ดักจับสารพิษ เป็นแหล่งรวมสายพันธุ์พืชและสัตว์ เช่น กาบอ้อย ปากงาช้าง นกกระสา นกยาง เป็นต้น

อนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention) หรืออนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ คืออนุสัญญาที่จัดขึ้นที่เมืองแรมซาร์ ประเทศอิหร่าน ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2514 ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างรัฐบาล ซึ่งกำหนดกรอบการทำงานสำหรับความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยที่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์และยับยั้งการสูญหายของพื้นที่ชุ่มน้ำในโลก ซึ่งจะต้องมีการจัดการเพื่อใช้ประโยชน์อย่างชาญฉลาด อนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้เมื่อปี พ.ศ. 2518 ปัจจุบันมีภาคีอนุสัญญาฯ จำนวน 159 ประเทศ

ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาแรมซาร์เป็นลำดับที่ 110 มีพื้นที่ชุ่มน้ำ (Ramsar Site) ได้แก่
1. พื้นที่ชุ่มน้ำ พรุควนขี้เสียนในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง มีพื้นที่ประมาณ 3,085 ไร่
2. พื้นที่ชุ่มน้ำดอนหอยหลอด จังหวัดสมุทรสงคราม มีพื้นที่ประมาณ 546,875 ไร่
3. พื้นที่ชุ่มน้ำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง จังหวัดหนองคาย มีพื้นที่ประมาณ 13,837 ไร่
4. พื้นที่ชุ่มน้ำเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราช สุดาฯ (พรุโต๊ะแดง) จังหวัดนราธิวาส มีพื้นที่ประมาณ 125,625 ไร่
5. พื้นที่ชุ่มน้ำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองบงคาย จังหวัดเชียงราย มีพื้นที่ประมาณ มีพื้นที่ประมาณ 2,712 ไร่
6. พื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่จังหวัดกระบี่ มีพื้นที่ประมาณ 133,120 ไร่
7. พื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม-เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง – ปากน้ำตรัง จังหวัดตรัง มีพื้นที่ประมาณ 515,745 ไร่
8. พื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติแหลมสน-ปากแม่น้ำกระบุรี – ปากคลองกะเปอร์จังหวัดระนอง มีพื้นที่ประมาณ 677,625 ไร่
9. พื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง จังหวัดสุราษฏร์ธานี มีพื้นที่ประมาณ 63,750 ไร่
10. พื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา จังหวัดพังงา มีพื้นที่ประมาณ 250,000 ไร่
11.พื้นที่ชุ่มน้ำเขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีพื้นที่ประมาณ 43,074 ไร่
(ขณะนี้ กำลังเสนอพื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิง จังหวัดหนองคาย มีพื้นที่ประมาณ 13,750 ไร่ เป็นแรมซาร์ไซต์ แห่งที่12)

ทั้งนี้ การประกาศเป็นพื้นที่แรมซาร์ไซต์มีข้อบังคับให้ภาคีแต่ละประเทศต้องดูแล ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ให้มีความสมบูรณ์ ต้องกำหนดและวางแผนการดำเนินงานการใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างชาญฉลาด โดยสามารถขอคำปรึกษาและความช่วยเหลือจากประเทศในภาคีด้วยกันได้ และต้องรายงานความคืบหน้าของการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำทุกๆ 3 ปี

Red Tide

ปรากฏการณ์น้ำเปลี่ยนสี (Red Tide) หรือที่ชาวบ้านมักเรียกว่า ปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬ เหตุที่เรียกเช่นนั้นเพราะชาวบ้านสังเกตเห็นแผ่นน้ำสีแดงแบบช้ำเลือดช้ำหนอง จนชาวบ้านที่พบเห็นจินตนาการไปว่าอาจจะเป็นขี้ของสัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่งใน ทะเล แต่แท้ที่จริงแล้ว ปรากฏการณ์นี้เกิดจากการที่แพลงก์ตอนพืชเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนขึ้นอย่าง รวดเร็ว หรือเรียกว่าแพลงก์ตอนบูม และทำให้น้ำทะเลหรือน้ำกร่อยเปลี่ยนสีอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาสั้นๆ ทั้งนี้การบูมของแพลงก์ตอนเกิดขึ้นเมื่อธาตุอาหารจากแผ่นดิน อาทิ ฟอสฟอรัสและไนเตรต ถูกชะล้างลงสู่ทะเลในปริมาณหนึ่งภายใต้สภาพแสงและอุณหภูมิที่เหมาะสม จำนวนของแพลงก์ตอนก็จะเพิ่มขึ้น น้ำทะเลที่มองเห็นก็จะเปลี่ยนเป็นสีแดง สีน้ำตาลแดง เหลือง หรือเขียว ตามแต่ชนิดของแพลงก์ตอน

ปรากฏการณ์นี้นอกจากจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อสัตว์น้ำแล้ว ยังสามารถส่งผลกระทบต่อคนได้ผ่านทางห่วงโซ่อาหาร กล่าวคือ เมื่อหอยและสัตว์น้ำกินแพลงก์ตอนบางชนิดที่เป็นพิษ แล้วคนไปกินหอยอีกทอดหนึ่ง ก็จะได้รับสารพิษเข้าไปด้วย ซึ่งอาจทำให้มีอาการเจ็บป่วยหรือถึงตายได้ถ้าเป็นพิษที่ร้ายแรง เช่นพิษอัมพาต

ในประเทศไทยเคยมีรายงานการตายเนื่องจากการได้รับพิษอัมพาต โดยในปี 2526 ที่ปากแม่น้ำปราณ เขตอำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และมีอาการป่วยเนื่องจากได้รับพิษ 63 ราย เหตุเพราะกินหอยแมลงภู่ในบริเวณนั้นเข้าไป

REDD

REDD ย่อมาจาก Reducing Emission from Deforestation and Forest Degradation in Developing Countries หมายถึง นโยบายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่าใน ประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่า ด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ประเด็นเรื่อง REDD มีจุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการ จากการเสนอเข้าสู่เวทีเจรจาปัญหาโลกร้อนในปีพ.ศ. 2548 โดยประเทศปาปัวนิวกินีและคอสตาริกา โดยมีแนวคิดว่าการดูแลรักษาป่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวมของ โลก ดังนั้นผู้ที่ดูแลรักษาป่าควรจะได้รับค่าตอบแทนเพื่อเป็นกลไกที่สร้างแรงจูง ใจเชิงบวกในการรักษาป่า

ทั้งนี้ โครงการ REDD จึงเป็นโครงการที่ประเทศพัฒนาแล้วสนับสนุนให้ประเทศกำลังพัฒนารักษาป่า ซึ่งการเข้าร่วมโครงการของประเทศกำลังพัฒนาจะเป็นการเข้าร่วมตามความสมัครใจ โดยขอบเขตของการรักษาป่าคือ เป็นกิจกรรมลดการทำลายป่า ลดความเสื่อมโทรมของป่า รวมถึงกิจกรรมการปลูกป่าหรือฟื้นฟูป่าเพิ่มเข้าไป จนปัจจุบันนี้เรียกกันว่าเป็น REDD-Plus (REDD+)

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันการดำเนินการภายใต้โครงการ REDD ยังอยู่ในระหว่างการเจรจาถกเถียงบนเวทีของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการ เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อหาข้อสรุป โดยเฉพาะประเด็นว่าการสนับสนุนกิจกรรม REDD ควรจะใช้กลไกตลาด คือให้มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิต หรือใช้กลไกกองทุน หรือผสมกันทั้งสองรูปแบบ เนื่องจากมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน กล่าวคือ

หากใช้กลไกตลาด คนที่ทำงานด้านอนุรักษ์และชนพื้นเมืองบางกลุ่มก็มองว่า อาจนำไปสู่การแย่งชิงพื้นที่ป่า ที่ดินปลูกป่า รวมไปถึงปัญหาเรื่องข้อตกลงสิทธิชุมชนในการดูแลป่า แต่หากเป็นกลไกกองทุน เงินที่มาช่วยเหลือส่วนนี้อาจจะไปกองรวมอยู่ที่ภาครัฐ ไม่ได้กระจายลงถึงชาวบ้านในพื้นที่อย่างแท้จริง เป็นต้น

สำหรับประเทศไทยที่เป็นประเทศกำลังพัฒนา ก็ต้องหาจุดยืนของประเทศว่าจะเข้าร่วม REDD หรือไม่ ถ้าเข้าร่วมจะสนับสนุนให้เป็นระบบการจัดการแบบใด (กลไกตลาด กองทุน หรือผสม) หรือหากไม่เข้าร่วม จะมีแนวทางอย่างไรต่อไป รวมทั้งจะแสดงบทบาทอย่างไรบนเวทีเจรจาระหว่างประเทศในอนาคต

อนึ่ง ในปัจจุบันมีการขยายเรื่อง REDD สู่ REDD+ (Reducing Emission from Deforestation and Forest Degradation, and the Role of Conservation, Sustainable Management of Forests and Enhancement of Forest Carbon Stocks in Developing Countries) ซึ่งมุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและการทำให้ป่าเสื่อมโทรม แต่ให้ครอบคลุมถึงกิจกรรมที่มีการกักเก็บคาร์บอนด้วย อันได้แก่ การอนุรักษ์ การจัดการป่าอย่างยั่งยืน และการเพิ่มพูนปริมาณคาร์บอนในพื้นที่ โดยแนวคิดยังคงเดิม คือการให้ประเทศที่พัฒนาแล้วสนับสนุนด้านการเงินให้กับประเทศกำลังพัฒนา แต่ยังไม่มีข้อตกลงว่ามีกิจกรรมอะไรบ้างที่ควรจะได้รับการจ่ายค่าชดเชยภาย ใต้ REDD+ อย่างไรก็ดี การขยายกิจกรรมของ REDD+ ทำให้มีปรเทศที่เข้าข่ายสามารถมาร่วมด้วยมากขึ้น