Universal Design หรือ การออกแบบเพื่อคนทั้งมวล เป็นแนวคิดการออกแบบสภาพแวดล้อมไปจนถึงผลิตภัณฑ์ที่ทุกคนสามารถใช้งานได้ อย่างสะดวก ปลอดภัย โดยไม่ต้องดัดแปลงหรือออกแบบเฉพาะ เพื่อให้คนทุกคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ทุกเพศ ทุกวัย และทุกสภาพร่างกาย สามารถดำรงชีวิตได้อย่างเสมอภาคกัน
ผู้ริเริ่มแนวคิดการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล คือ Mr. Ronald L. mace (1941-1998) ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเริ่มต้นจากการออกแบบของใช้ส่วนตัวของตนเอง เนื่องจากเขาก็เป็นผู้พิการเช่นกัน ก่อนจะพัฒนามาเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์สำหรับผู้พิการ และต่อยอดจนเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อคนทั้งมวล โดยเน้นความทัดเทียมของบุคคลทุกคนที่สามารถใช้ผลิตภัณฑ์ซึ่งออกแบบอย่าง เดียวกันได้ อันจะเป็นส่วนช่วยลดความแปลกแยก แตกต่างของบุคคลในสังคม
หลักการ Universal Designประกอบด้วยหลักสำคัญ 7 ประการ คือ
- Fairness ความเสมอภาค ทุกคนในสังคมสามารถใช้งานได้อย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีการแบ่งแยกและเลือกปฏิบัติ
- Flexibility ความยืดหยุ่น ใช้งานได้ทั้งกับผู้ที่ถนัดซ้ายและขวา หรือปรับความสูงต่ำให้ขึ้นลงได้ตามความสูงของผู้ใช้
- Simplicity ความเรียบง่ายและเข้าใจได้ดี เช่น มีภาพ คำอธิบาย หรือสัญลักษณ์สากล สำหรับคนทุกกลุ่มไม่ว่าจะมีความรู้ระดับไหน อ่านหนังสือออกหรือไม่
- Understanding ความเข้าใจง่าย มีข้อมูลคำอธิบายหรือรูปภาพประกอบการใช้งานที่เพียงพอ
- Safety มีความปลอดภัยขณะใช้งาน ทนทานต่อการใช้งานที่ผิดพลาด
- Energy conservation ทุ่นแรง สะดวก ทำให้ไม่ต้องออกแรงมาก
- Space มีขนาด-สถานที่ที่เหมาะสมและใช้งานในเชิงปฏิบัติได้โดยการออกแบบคิดเผื่อสำหรับคนร่างกายใหญ่โต คนที่เคลื่อนไหวร่างกายยาก
เนื่อง จาก Universal Design ไม่ได้เน้นการออกแบบ-สร้างสิ่งต่างๆ ให้พิสดารหรือแตกต่างออกไปเท่านั้น ทำให้หลายครั้งผลลัพธ์ของการออกแบบมีรูปลักษณ์ที่เรียบง่าย แต่ภายใต้ความเรียบง่ายนั้น ก็มีพื้นฐานจากการมองเห็นความแตกต่างของชีวิตอยู่ด้วย ตัวอย่างเช่นผลงานการออกแบบเคาน์เตอร์ต่างระดับสำหรับผู้มีความสูงต่างกัน รวมถึงผู้ใช้รถเข็น การออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้มีความแตกต่างกันหรือเพิ่มสัญลักษณ์เพื่อให้ผู้พิการ ทางสายตาสามารถแยกสินค้าแต่ละชนิดออกได้ด้วยตนเอง รวมถึงบริการสาธารณะพื้นฐานต่างๆ เช่น ทางลาดเอียงสำหรับรถเข็น ห้องน้ำคนพิการ ลิฟท์ที่ต้องมีปุ่มกดสำหรับผู้ใช้รถเข็น มีอักษรเบรลล์ รวมทั้งมีเสียงบอกเมื่อถึงชั้นต่างๆ รถเมล์หรือรถสาธารณะที่ทุกคนสามารถใช้งานได้ไม่ว่าจะเป็นคนชรา หญิงตั้งครรภ์ หรือผู้พิการ และป้ายสัญลักษณ์ที่ต้องออกแบบให้เข้าใจง่าย-เป็นสากล ฯลฯ เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นการคิดเพื่อคนอื่น โดยเว้นช่องว่างให้ความแตกต่างสามารถอยู่ร่วมกันได้
นอกจากนี้ แนวคิดดังกล่าวยังสอดคล้องกับบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ที่ให้ความคุ้มครองประชาชนคนไทยทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน จะมีการเลือกปฏิบัติเนื่องจากความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ ฯลฯ มิได้ อีกทั้ง พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ก็มีส่วนช่วยยืนยันในความเท่าเทียมของคนในสังคม ไม่ว่าเขาจะมีความบกพร่องทางใดก็ตาม นั่นก็ไม่ได้ลดทอนสิทธิ์ หรือสร้างความแตกต่างในฐานะมนุษย์ และหนึ่งในสิทธิ์นั้นคือ การได้อยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้
อย่างไรก็ดี สำหรับประเทศไทยแม้ว่าจะมีกฎหมายรองรับสิทธิความเท่าเทียม แต่ในทางปฏิบัติการออกแบบเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันดูจะยังไม่เกิดขึ้น เท่าไรนัก