อ่านไม่ออกก็รู้ความได้
ไม่กี่วันมานี้มีคนรุ่นใหม่ขอให้ฉันอธิบายความหมายของ “การรู้ภาษาสิ่งแวดล้อม” ในมุมมองของตัวเอง หลายคนคงจำได้ว่า eco-literacy หรือ environmental literacy เคยเป็นคำยอดฮิตในวงการสิ่งแวดล้อมเมื่อ 20-25 ปีก่อน และก็เหมือนกับคำหลายๆ คำที่ใช้จนเฝือ เบื่อ และเฟดหายไป ทั้งๆ ที่การปฎิบัติจริงยังไปกันไม่ถึงไหน ถ้ากูเกิ้ลดูก็จะได้นิยามประมาณว่า คือความเข้าใจในหลักการทำงานและความเชื่อมโยงของระบบนิเวศ และการกระทำที่ส่งผลกระทบ เพื่อให้เราสามารถตัดสินใจได้เหมาะสม แต่เมื่อ 20 กว่าปีก่อนฉันจำได้ว่าฉันสนุกกับคำศัพท์ ‘literacy’ และเมื่อถูกถาม ฉันก็จะขยายความมันตามประสาคนที่เติบโตมากับเทพนิยายและนิทานผจญภัยก่อนนอน ตอนนั้นฉันเพิ่งจะเริ่มพัฒนากระบวนการสำรวจธรรมชาติภาคประชาชน เรียกว่า “นักสืบสายน้ำ” ให้เด็กๆ และคนทั่วไปสามารถตรวจสอบสถานภาพและความเป็นไปของแม่น้ำลำธารได้เอง ดังนั้น ฉันก็จะบอกว่างานที่ทำคือการฝึกให้คนอ่านสภาพแวดล้อมได้เหมือนอ่านหนังสือ การทำความรู้จักสัตว์ชนิดต่างๆ ก็เปรียบเสมือนรู้จักตัวอักษรพยัญชนะ และพอรู้จักชีวิตมัน รู้จักนิสัย รู้ว่ามันชอบอยู่บ้านแบบไหน ชอบกินอะไร มีความสามารถอย่างไร ชอบคบกับใคร ทนอะไรได้แค่ไหน ก็เปรียบเสมือนเรารู้ไวยกรณ์ ผสมคำกันแล้วก็เริ่มอ่านออก รู้ความหมาย รู้เรื่องราวที่เกิดขึ้น ณ ที่นั้น เบื้องต้นก็อาจแค่รู้ว่าน้ำสะอาดสกปรกแค่ไหน โดยตัดสินจากชนิดสัตว์น้ำที่พบ เทียบเท่ากับอ่านนิทานเต่ากับกระต่ายง่ายๆ แต่ยิ่งฝึกสังเกต คลังคำและไวยกรณ์ก็ยิ่งแตกฉาน ยิ่งอ่านได้มาก […]